“ดังนั้น จงใช้ร่างกายของท่าน

ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าเถิด”

(1โครินธ์ 6:20)

เด็กสาวคนหนึ่งป่วยด้วยโรคซึมเศร้า

สิ่งที่เธอกระทำในยามที่เธอรู้สึกคับข้องใจ คับแค้นใจคือการทำร้ายตนเอง

จนบางครั้งข้าพเจ้าก็ไม่สามารถแยกแยะระหว่างอาการป่วยกับอาการเอาแต่ใจตนได้เลย

เพราะทุกครั้งที่เธอผิดหวังแม้ในเรื่องเล็กน้อย

เธอจะกำมือแน่น น้ำตาไหลพราก และเริ่มทำร้ายตนเอง

ในช่วงที่เธอป่วยช่วงแรกๆ เธอยังไม่ได้รับศีลล้างบาปเป็นคริสตชน

แม้เธอจะคอยบอกข้าพเจ้าว่าเธอต้องการเป็นคริสตชนก็ตาม

ข้าพเจ้ากลับรู้สึกว่า เธอยังไม่พร้อมและเธอยังมีอะไรอีกหลายๆอย่างที่ข้าพเจ้าไม่แน่ใจ

ไม่มั่นใจที่จะยืนยัน หรือเป็นพยานให้เธอในการรับศีลล้างบาป

ข้าพเจ้ากำลังพยายามเรียนรู้ ยอมรับ และเข้าใจในตัวของอาการโรคซึมเศร้า

โดยไม่ใช่คล้อยตาม หรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาที่อาการของโรคกำลังปะทุขึ้นมา

ข้าพเจ้าเรียนรู้ว่า หากสมาชิกคนหนึ่งคนใดในครอบครัวของเราป่วยด้วยโรคนี้

จงรู้ไว้ว่า....โรคนี้ไม่ใช่โรคทางจิตประสาทเพียงเท่านั้น

แต่มันคือโรคทางจิตใจที่ไม่ใช่การรักษาเฉพาะด้วยการกินยาระงับอาการให้หายไปได้ทันที

สิ่งที่ต้องรักษาและสำคัญกว่าคือรักษาภาวะทางจิตใจ

ที่ถูกกีดกั้นด้วยกำแพงในลักษณะขวางกั้นตัวเอง

กับการเผชิญหน้าต่ออุปสรรคและปัญหาที่เกิดขึ้น

โดยเอาอดีตมาเป็นตัวตั้งในการตัดสินเหตุการณ์หรือปัญหาในปัจจุบัน

ซึ่งแสดงออกด้วยการทำร้ายตนเองเมื่อไม่สามารถก้าวข้ามผ่านอารมณ์นั้นๆไปได้

สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าบอกกับเด็กสาวผู้ป่วยด้วยโรคนี้คือ ร่างกายของเราเป็นของพระเจ้า

“ท่านไม่รู้หรือว่าร่างกายของท่านเป็นพระวิหารของพระจิตเจ้าผู้สถิตในท่าน”

(1 โครินธ์ 6:19)

ข้าพเจ้าถือว่าเป็นแผนการของพระเจ้า

ที่ได้ส่งเด็กสาวคนนี้เข้ามาในวิถีชีวิตของข้าพเจ้า

ให้ข้าพเจ้าได้ฝึกความเข้าใจ ความอดทน ยอมรับ เรียนรู้ตัวโรคนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

และที่สำคัญ เป็นตัวอย่างในการแสดงถึงฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า

ที่มีอยู่เหนืออำนาจความเจ็บป่วย หรืออำนาจใดๆในโลกนี้

อำนาจของพระเจ้ามีผลเหนือจิตวิญญาณทุกดวง

เพียงแค่เราเปิดใจรับให้พระเจ้าเข้ามามีอำนาจในชีวิตเรา

เด็กสาวพยายามเรียนรู้ที่จะไม่ทำร้ายตนเอง

พยายามฝึกฝนตนเองให้ก้าวข้ามผ่านโรคนี้ไปให้ได้

ปรับจิตวิญญาณของตนไปพร้อมกับการปรับสารเคมีในสมอง

ผ่านการเยียวยาทั้งทางโลก และทางธรรม

หลายเดือนที่ผ่านมา ข้าพเจ้ารู้ว่าเธอมีการพัฒนาตนเองด้านอารมณ์ได้ดีขึ้น

ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น ไม่ทำร้ายตัวเองซ้ำๆ เหมือนในอดีต

แม้จะยังมีหลุดไปบ้างในบางเหตุการณ์ก็ตาม

ข้าพเจ้าอยากแบ่งปันเป็นประสบการณ์สำหรับผู้ที่มีสมาชิกป่วยด้วยโรคเหล่านี้

แต่ละคนอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต หรือการแสดงความเข้าใจที่แตกต่างกันไป

ด้วยบุคลิกของผู้ป่วยแต่ละคน  ภูมิหลังของปัญหาของแต่ละคน

และการแสดงออกทางอารมณ์ที่แตกต่างกัน

เมื่อสมาชิกคนหนึ่งป่วย  ต้องมีใครสักคนที่ผู้ป่วยเชื่อฟังที่สุด

เพื่อคอยประคองใจยามพบเจอปัญหา

และต้องมีคนที่วางเฉยที่สุดเมื่อมีเหตุการณ์หรือพฤติกรรมทางลบ

เช่น การทำร้ายตนเอง สมาชิกทุกคนต้องแสดงให้เห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่เราไม่พึงประสงค์

ไม่ยอมรับ และไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

การเข้าไปประคับประคองหรือโอ๋ ไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง

แต่ให้บุคคลที่ผู้ป่วยรักและเข้าถึงได้มากที่สุด เข้าไปรับฟัง  ช่วยเหลือ

หรือทำให้เหตุการณ์รวมถึงอารมณ์ ณ จุดนั้นสงบลงก่อน

การอธิบาย หรือการสอน ณ เวลานั้น ไม่มีผลอะไรเลยต่อผู้ป่วยนั้นจริงๆ

แต่อย่างไรก็ตาม มันเป็นการยากที่จะนำวิธีการของคนหนึ่งไปแก้ไขกับอีกคนหนึ่ง

เพราะพื้นฐาน ภูมิหลัง หรือสภาพทางจิตใจของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน

ลูกสาวของเพื่อนข้าพเจ้าคนหนึ่งเธอก็ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเช่นกัน

สิ่งหนึ่งที่เธอบอกกับข้าพเจ้าคือ บางทีเราก็ต้องยินยอมให้บางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น

หากมันเกินที่เราจะยื้อไว้ได้แล้วจริงๆ

แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเด็กสาวคนนี้ได้รับศีลอภัยบาปแล้ว

โดยข้าพเจ้าเป็นแม่ทูนหัวให้เธอ

แม้ในส่วนลึกข้าพเจ้าเองก็แอบหวั่นไหว ไม่มั่นใจในพัฒนาการเกี่ยวกับตัวโรคของเธอ

แต่ข้าพเจ้าก็ฝากทุกสิ่งทุกอย่างไว้ในแผนการของพระเจ้า

ในฤทธิ์อำนาจของพระองค์

เพราะจริงๆแล้ว ข้าพเจ้ากระทำสิ่งใดไม่ได้เลยหากปราศจากพระเจ้า

“ตรัสมาเถิด ผู้รับใช้ของพระองค์กำลังฟังอยู่”

(1ซามูแอล 3:10)

ไม่มีอะไรใหม่ภายใต้ฟ้าสวรรค์

ดังนั้นแล้ว จงใช้ชีวิต ใช้ร่างกายของตน

เพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้าเถิด

ขอพระเจ้าโปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า

และต่อบาปที่ข้าพเจ้าได้กระทำลงไปทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ

ทั้งต่อร่างกายของตนเอง และร่างกายของผู้อื่นด้วย

ขอให้ข้าพเจ้ารู้จักที่จะรัก เคารพ รู้คุณค่าศักดิ์ศรีของร่างกายตนเองและผู้อื่น

เพื่อจะได้เป็นประจักษ์พยานของพระเจ้าได้อย่างแท้จริง

.....................................