“ความเครียดแค้นและความโกรธเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ แต่คนบาปกลับยึดไว้แน่น”
(บุตรสิรา 27:30)
สังคมทุกวันนี้เหมือนมี 2 ขั้วที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
หนึ่ง บุคคลที่พยายามแสวงหาหนทางแห่งความสงบสุขของชีวิต
ด้วยเห็นว่าชีวิตในสังคมโลกทุกวันนี้มันช่างวุ่นวายยุ่งเหยิงเหลือทน
เขาพยายามหาหนทางคืนสู่ธรรมชาติอย่างแท้จริง
สอง บุคคลที่พยายามแสวงหาความโดดเด่น อำนาจ ชื่อเสียงในชีวิต
ด้วยเห็นว่า โลกต้องพัฒนาไปให้ถึงที่สุด
และบุคคลต้องก้าวให้ทันโลก
เขาพยายามจะดิ้นรนขวนขวายหาลู่ทาง วางแผนการชีวิตเพื่อผลักดันตนเองอย่างสุดแรง
บางกลุ่มคน...
มองเห็นแต่เพียงเหตุผลของตนเพียงฝ่ายเดียวว่าเป็นเหตุผลที่ถูกต้อง
เอาอารมณ์ของตนเป็นที่ตั้ง มุทะลุดุดันก้าวร้าวผู้มีความเห็นต่าง
ขาดสติยั้งคิด ยั้งทำ ขาดการยับยั้งชั่งใจก่อนที่จะพูดสรุปสิ่งต่างๆออกไป
มองผู้คิดต่างเป็นศัตรูของตน
จนบางครั้งก็ลืมคิดถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ และบุคคล
ความแตกต่างของการรับรู้ข้อมูล
ที่ต่างคนต่างเอามาสรุปเป็นข้อมูลของตนบนความคิดเห็นส่วนตัวของตน
แต่ทำร้ายคนรอบข้างได้อย่างไม่น่าเชื่อ
มีเรื่องบางเรื่องที่ไม่ควรนำเข้ามาอยู่ในบทสนทนา
เพราะบางเรื่องนำไปสู่การแตกแยก ระแวง และความเห็นต่างที่ไม่เคยจบสวยงาม
ดังนั้นแล้ว การเลือกที่จะเงียบบ้าง เลือกที่จะไม่รู้บ้างก็เป็นสิ่งที่ดี
ที่จะทำให้เราเห็นทัศนคติของอีกฝ่าย
เพื่อตั้งรับให้ถูกที่ถูกทาง วางคนให้ถูกตัวในการปรับทัศนคติที่บิดเบือนไป
แต่ผู้ที่ลุกขึ้นมาโวยวาย ด้วยอารมณ์พลุ่งพล่าน
มักจะกลับกลายเป็นผู้พ่ายแพ้ไปเสีย
เพื่อนของข้าพเจ้าคนหนึ่ง มีบุคลิกที่นิ่งเงียบในทุกเหตุการณ์
แม้กระทั่งเหตุการณ์ที่เขากระทำพลาดอย่างหนักหนาสาหัส
เขาก็ยังคงแสดงท่าทีที่นิ่งสงบบนใบหน้าอย่างชัดเจน
จนไม่มีใครสามารถล่วงรู้ได้ถึงเหตุการณ์ผิดพลาดยิ่งใหญ่นั้นได้เลย
เพราความนิ่งเงียบ และสงบของเขา
เขาจึงมีโอกาสในการกลับตัวกลับใจเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อย่างง่ายดาย
ต่างจากผู้ที่ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง
เขาป่าวประกาศความเลวร้ายของตนด้วยอารมณ์ของตนให้คนรอบข้างรู้
เมื่อถึงเวลาที่เขาจะกลับคืนสู่สภาวะปกติ
จึงต้องใช้แรงพลังมหาศาลเช่นที่เขาเคยใช้แรงอารมณ์แสดงออกไป
เพื่อให้เขากลับมาเป็นที่ยอมรับอีกครั้งหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ดี พระเยซูเจ้าทรงสอนให้คริสตชนมีจิตยิ่งใหญ่แห่งการให้อภัย
จะกี่ครั้งกี่หนที่เราต้องเผชิญหน้ากับบุคคลที่ทำร้ายเรา
เราก็ยังคงต้องเรียนรู้ที่จะให้อภัยอย่างไม่มีสิ้นสุดต่อไป
ตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้า
พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราไม่ได้บอกท่านว่า
ต้องยกโทษให้เจ็ดครั้ง
แต่ต้องยกโทษให้เจ็ดคูณเจ็ดสิบครั้ง”
(มัทธิว 18:22)
ผู้ป่วยต้องการหมอฉันใด ข้าพเจ้าก็ต้องการพระเจ้าฉันนั้น
โรคภัยฝ่ายจิตบางทีก็ไม่แสดงอาการให้ผู้อื่นเช่นเดียวกับโรคภัยฝ่ายกาย
กว่าจะวินิจฉัยได้ถูกต้องก็ล่วงเวลามาจนยากจะรักษา
เมื่อรักษาจนหายแล้ว ก็ยังกลับไปใช้ชีวิตตามอำเภอใจอีกครั้ง
ไม่เชื่อคำหมอสั่ง คำพระสอน
กี่ครั้งกี่หนที่ได้รับการรักษา ได้รับการเยียวยา
แล้วก็ยังคงกลับไปใช้ชีวิตเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
“แต่พระองค์ยังทรงมีพระทัยเมตตาสงสาร
ทรงให้อภัยความผิด ไม่ทรงทำลายเขา
ทรงระงับพระพิโรธครั้งแล้วครั้งเล่า
ไม่ทรงปล่อยความโกรธอย่างเต็มที่”
(สดุดี 78:38)
......................... |