“ทรงยกย่องผู้ต่ำต้อยให้สูงขึ้น

พระองค์ประทานสิ่งดีทั้งหลายแก่ผู้อดอยาก”

(ลูกา 1:52-53)

ความเชื่อคาทอลิกเชื่อว่าพระเจ้าได้รับพระแม่มารีย์เข้าสู่สวรรค์ทั้งร่างกายและวิญญาณ

เหตุด้วยพระแม่เป็นผู้ได้รับเลือกสรรเข้าร่วมแผนการไถ่กู้มนุษยชาติ

เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมาข้าพเจ้าได้รับโอกาสเดินทางสู่แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์

ณ ที่นั่น มีวัดแห่งหนึ่งชื่อวัดแม่พระบรรทม

ด้านในของวัดข้าพเจ้ายังจำได้ติดตาว่ามีโดมทรงกลม

ภายในมีพระรูปแม่พระแกะสลักจากไม้ กำลังนอนบรรทมอยู่

ด้านบนหลังคาโดมทรงกลมมีรูปสตรีที่ถูกกล่าวถึงในพระคัมภีร์

ข้าพเจ้ายืนมองรูปเหล่าสตรีบนหลังคาโดมนั้น

อย่างน้อย ในภารกิจของพระเยซูเจ้า

บรรดาสตรีก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมเดินทางไปกับพระองค์ด้วย

สำคัญไปกว่านั้น สตรีหลายคนที่ถูกกล่าวถึงนั้นพระเจ้าทรงฉุดดึงขึ้นมาจากโคลนตม

ตั้งแต่เอวาในพันธสัญญาเดิมมาจนถึงหญิงคนบาปในพันธสัญญาใหม่

และมาจนถึงปัจจุบัน ข้าพเจ้าเองก็เป็นหญิงคนบาปคนหนึ่ง

ที่พระเจ้าพยายามฉุดดึงขึ้นมาจากโคลนตมเช่นกัน

เมื่อข้าพเจ้ามองดูความหม่นหมองของวิญญาณตนเอง

ข้าพเจ้าก็มองเห็นความขาวสะอาดของจิตวิญญาณพระแม่มารีย์ชัดเจนขึ้นเสมอ

หลายครั้งที่ข้าพเจ้าสัมผัสได้ว่า รังสีแห่งความบริสุทธิ์ผุดผ่องของพระแม่

เฉิดฉายปกคลุมและเจือจางจิตวิญญาณสีหม่นๆของลูกของพระแม่ให้สวยงามขึ้นด้วย

พระแม่มารีย์ผู้สุภาพถ่อมตน

ไม่มีสักครั้งที่พระแม่ยกย่องตนเองในฐานะแม่ของพระคริสตเจ้า

พระแม่ใช้ชีวิตเพื่อให้คนรอบข้างเห็นความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า

มากกว่าเห็นความยิ่งใหญ่ของความเป็นแม่ของพระเจ้า

“วิญญาณข้าพเจ้าประกาศความยิ่งใหญ่ขององค์พระผู้เป็นเจ้า

จิตใจข้าพเจ้าชื่นชมยินดีในพระเจ้า

พระผู้ทรงกอบกู้ข้าพเจ้า”

(ลูกา 1:46 – 47)

ในความสุภาพนบนอบของพระแม่มารีย์

พระแม่มารีย์ก็เป็นที่เคารพรักของคนรอบข้างด้วยเช่นกัน

ด้วยความมีน้ำใจ มีเมตตาช่วยเหลือ

ตั้งแต่เดินทางไปดูแลนางเอลิซาเบธจนกระทั่ง

นางเอลีซาเบธคลอดนักบุญยอห์นบัปติสต์

ตั้งแต่งานเลี้ยงที่เมืองคานาด้วยความห่วงใยของพระแม่

ที่มีต่อเจ้าภาพจัดงานเมื่อเหล้าองุ่นหมด

ข้าพเจ้าเฝ้าเตือนตัวเองเสมอให้รู้จักที่จะเลียนแบบอย่างความอ่อนโยนที่ไม่อ่อนแอ

เช่นที่พระแม่มารีย์ทรงเป็นแบบอย่างให้

เพราะหลายครั้งที่ข้าพเจ้าแยกแยะตัวเองระหว่างความอ่อนแอและอ่อนโยนไม่ถูก

อ่อนโยนต่อผู้อื่น แต่ไม่อ่อนแอต่อบาป และผู้ชักจูงไปสู่บาป

แม้ข้าพเจ้าจะได้รับเกียรติบัตรชื่นชมในฐานะครูผู้มีอัตลักษณ์ความอ่อนโยน

แต่ข้าพเจ้าก็รู้ตัวตนของตนดีว่า

ในความอ่อนโยนข้าพเจ้าแฝงความอ่อนแอเอาไว้มากกว่า

จนกระทั่งมันอาจจะแสดงออกมาในรูปแบบที่ละม้ายคล้ายความอ่อนโยนก็เป็นได้

แต่อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านั้นกลับสอนให้ข้าพเจ้ารู้จักที่จะฝึกฝนตนเอง

รู้ว่าควรอ่อนโยนต่อเหตุการณ์ใด กับใคร  เมื่อไหร่

 และควรเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยวกับเหตุการณ์ใด กับใคร เมื่อไหร่เช่นกัน

ข้าพเจ้าเคยสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับน้องคนหนึ่ง

เกี่ยวกับพฤติกรรมของคนใกล้ตัวที่เป็นโรคซึมเศร้าเหมือนกัน

สิ่งหนึ่งที่เราห้ามไม่ได้เมื่อเราดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอย่างดีที่สุดแล้วก็คือ

ถ้าเขาคิดจะทำร้ายตนเองจนเกินที่เราจะเข้าไปเยียวยา

“ก็ต้องปล่อยเขาไป”

คำว่า “สุดท้ายก็ต้องปล่อยเขาไป” มันเคยดังก้องในใจข้าพเจ้า

เพราะข้าพเจ้ายังรับไม่ได้กับพฤติกรรมเช่นนั้น

แต่เมื่อวันหนึ่งมันเดินทางมาประชิดตัวจริงๆ

ข้าพเจ้าก็พบว่า คำว่า”สุดท้ายก็ต้องปล่อยเขาไป” มันเป็นคำปลอบโยนที่ดีที่สุดแล้ว

มันทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกปล่อยวางมากขึ้นในวันที่เครียดกับสภาพแวดล้อม

ที่ถูกรายล้อมด้วยความซึมเศร้าของผู้ป่วยโรคนี้จริงๆ

ข้าพเจ้าขอพรพระด้วยความเชื่อมั่นว่า

ถ้าพระองค์เห็นสมควร เขาจะต้องหายจากโรคที่พาให้ดวงใจหดหู่นี้ไปให้จนได้

ข้าพเจ้าพยายามใส่ความรักของพระเจ้าลงในใจเขา

แม้ความรักของเขายังเป็นรักที่มีเงื่อนไขอยู่ตลอดเวลาก็ตาม

ด้วยความหวัง ข้าพเจ้ามั่นใจว่า ทุกอย่างล้วนเป็นแผนการของพระเจ้า

แผนการให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้จักโรคนี้อย่างชิดใกล้

แผนการให้เขาผู้ป่วยได้เข้ามาอยู่ในรังสีของความรักของพระเจ้า

ผ่านสมาชิกในครอบครัวของข้าพเจ้า

แล้วสักวันหนึ่ง

“ศัตรูสุดท้ายที่จะถูกทำลายคือความตาย

เพราะพระเจ้าทรงปราบทุกสิ่งให้อยู่ใต้พระบาทของพระองค์”

(1 โครินธ์ 15:26)

.....................................