“ฉันเป็นผู้รับใช้ที่ไร้ประโยชน์
เพราะฉันทำตามหน้าที่ที่ต้องทำเท่านั้น”
(ลูกา 17:10)
เมื่อกล่าวถึงคำผู้รับใช้ ข้าพเจ้าก็เปิดหาคำแปลในพจนานุกรมออนไลน์พบว่า
ผู้รับใช้ แปลว่า ผู้มีหน้าที่รับใช้และอาศัยอยู่ในบ้านเจ้านาย
เมื่อกล่าวถึงผู้รับใช้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเจ้านาย
ข้าพเจ้าคิดไปถึงทาสในสมัยอดีตกาล
ทาส ซึ่งหมายถึง บุคคลซึ่งถูกนับสิทธิเสมือนสิ่งของของผู้อื่น
ไม่มีอิสระในการดำรงชีวิต และมีหน้าที่รับใช้ผู้อื่น
โดยมิได้รับการตอบแทนจากเจ้าของหรือนายทาส
ข้าพเจ้าเคยชมละครย้อนยุคเรื่องหนึ่ง
ที่ในเรือนยังมีทาสเดินกันขวักไขว่
เจ้าของเรือนมีบุตรสาวหน้าตางดงาม
และบุตรสาวของบรรดาเจ้าขุนมูลนายก็ต้องมีแม่นม
ที่คอยดูแลปรนนิบัติรับใช้ทุกฝีก้าว ทุกกระเบียดนิ้ว
ครั้งหนึ่งเมื่อบุตรสาวกระทำผิด และจำต้องถูกลงโทษ
แม่นมก็จะคอยทำหน้าที่ออกรับหน้าแทนด้วยความรักนายเยี่ยงชีวิต
ทาสในสมัยก่อนแสดงออกต่อนายตนด้วยความซื่อสัตย์ จงรักภักดี
ยอมถวายตัวถวายหัวเมื่อภัยกำลังจะย่างกรายมาถึงนายตน
ด้วยทาสในสมัยเก่าก่อน เห็นนายเป็นเจ้าชีวิต
ถูกนายนับสิทธิ์ว่าเป็นเพียงสิ่งของที่ซื้อขายกันได้ แลกเปลี่ยนกันได้เมื่อไม่พึงใจ
แต่คำว่าผู้รับใช้ ได้รับการแปลความให้คงคุณค่าบางอย่างไว้ว่า
การทำหน้าที่ผู้รับใช้และอาศัยอยู่ในบ้านเจ้านาย
ในขณะที่ทาสอาศัยอยู่ในเรือนทาสต่างหาก และแยกกันอย่างชัดเจน
ในขณะที่ผู้รับใช้ยังคงสามารถใช้ หยิบจับสิ่งของ ร่วมกับเจ้านายได้บ้าง
น้องชายว่าจ้างสาวใช้คนหนึ่งเพื่อมาช่วยดูแลบุตรชายตัวน้อยของตน
และช่วยแบ่งเบาภาระของภรรยาในการดูแลทำความสะอาดบ้าน
สาวใช้ได้รับสิทธิ์ในการพักห้องหนึ่งในบ้านและใช้ห้องน้ำได้ร่วมกัน
รวมไปถึงอาหารการกินในแต่ละมื้อก็เป็นอาหารประเภทเดียวกัน
เมื่อสิ้นปี น้องชายเห็นว่าสาวใช้คนนี้ทำงานดีมาก
จึงมอบสร้อยทองเส้นหนึ่งให้เป็นของขวัญปีใหม่และถือว่าเป็นสินน้ำใจ
ต่อการปฏิบัติงานที่เอาใจใส่อย่างดีตลอดปีที่ผ่านมา
สาวใช้ไม่ได้เรียกร้องสิ่งใดนอกจากเงินเดือนของตนรายเดือนที่เธอรับ
เธอยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์
และในบางเวลาเธอก็ปฏิบัติงานนอกเหนือหน้าที่ด้วย
เช่น บางครั้งเจ้านายกลับดึกดื่น
เธอก็จัดเก็บข้าวของในบ้านรอเจ้านายกลับมา
ไม่มือไวใจเร็วหยิบฉวยสิ่งที่ไม่ใช่ของตน ทั้งๆที่สิ่งของมีค่านั้นวางไว้อย่างเปิดเผย
ข้าพเจ้ายังนึกชื่นชมสาวใช้คนนี้ ที่จะว่าไปเขาใส่ใจรายละเอียดของคนในบ้านนายตน
มากกว่าข้าพเจ้าที่เป็นถึงน้องของนายเขาเสียอีก
ผู้รับใช้ที่ดี ต้องปรนนิบัติรับใช้นายของตนด้วยความเอาใจใส่ทุกรายละเอียด
อันที่แบบอย่างของผู้รับใช้ที่ดีก็มีมากมายในพระคัมภีร์หลายตอน
แต่แบบอย่างหลักๆที่สอนใจข้าพเจ้ามาตลอด
ก็เห็นจะเป็นเหตุการณ์ในพระคัมภีร์ช่วงคืนอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูเจ้านั่นเอง
ในค่ำคืนนั้นพระเยซูเจ้าทรงล้างเท้าอัครสาวก
และสอนให้อัครสาวกกระทำเช่นเดียวกันนี้กับผู้อื่นด้วย
ทรงสอนให้ลูกๆของพระองค์รู้จักที่จะปรนนิบัติรับใช้ผู้อื่น
เพราะทุกครั้งที่เรารับใช้ผู้อื่น ก็เหมือนเรากำลังรับใช้พระเจ้าเช่นกัน
ในขณะที่สังคมโลกกำลังหล่อหลอมให้เรามองตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลก
การแสดงตนเป็นผู้รับใช้จึงถูกมองว่าเป็นภารกิจที่ต่ำต้อยด้อยค่า
การยื่นมือเข้าไปทำงานเล็กๆน้อยๆ จึงถูกมองว่าเป็นงานไร้สาระ
ไม่ได้สร้างอำนาจ บารมี หรือความเจริญก้าวหน้าให้ผู้กระทำเลย
แต่พระเยซูเจ้าทรงสอนให้เราเป็นผู้รับใช้ที่ดี
เพื่อให้การเจริญชีวิตตามกระแสโลกของเราที่อาจจะทำให้เราลืมตนเองไปว่า
เราเป็นผู้รับใช้ของพระคริสต์ ที่ต้องเจริญชีวิตตามแบบอย่างพระคริสตเจ้าของเรา
และกระแสโลกอาจจะทำให้เลือนรางในชีวิตฝ่ายจิตของเราไปบ้าง
แต่เมื่อเรายังคงยึดพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลางชีวิต
เราจะไม่หลงทางไปไกลเกินกว่าจะเดินกลับมาได้เลย
“เพราะพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าของเรา
และเราเป็นประชากรที่ทรงเลี้ยงดูดุจฝูงแกะที่ทรงนำไปยังทุ่งหญ้า”
(สดุดี 95:7)
ข้าฯคือผู้ รับใช้ ที่ไร้ค่า
หากแต่ว่า ข้าฯยังเดิน ตามพระเจ้า
นายของข้าฯ เปี่ยมเมตตา มาบรรเทา
ข้าฯจึงเฝ้า เข้าชิดใกล้ รับใช้นาย
จะซื่อสัตย์ รักรับใช้ ด้วยใจมั่น
จะแบ่งปัน สรรสร้าง ทางเป้าหมาย
จะเลียนแบบ ผู้รับใช้ ให้ใจกาย
จะถวาย ชีวิต ใกล้ชิดองค์
..................................... |