แต่เขาตอบพ่อว่า “ลูกรับใช้พ่อมานานหลายปีแล้ว

ไม่เคยฝ่าฝืนคำสั่งของพ่อเลย

พ่อก็ไม่เคยให้ลูกแพะแม้แต่ตัวเดียวกับลูกเพื่อเลี้ยงฉลองกับเพื่อนๆ

แต่พอลูกคนนี้ของพ่อกลับมา เขาคบหญิงเสเพล

ผลาญทรัพย์สมบัติของพ่อจนหมด

พ่อยังฆ่าลูกวัวที่ขุนอ้วนแล้วให้เขาด้วย”

(ลูกา 15:29-30)

ลูกสาวผู้มีน้ำใจดี แม่ส่งไปอยู่บ้านคุณตาคุณยายในช่วงปิดภาคเรียน

แม่ถามเธอว่า อยู่บ้านคุณตาคุณยายหนูช่วยทำงานอะไรบ้าง

ลูกสาวผู้ไม่เคยมีความลับกับใคร

เล่าให้แม่ฟังว่า หนูช่วยยายทำงานบ้านทุกอย่างเลยค่ะ

แต่แม่คะ หนูอึดอัดเหมือนกันนะคะ

คือหนูอยากตื่นสายบ้าง แต่พอหนูเห็นยายลงไปกวาดใบไม้ลานบ้าน

หนูก็รู้สึกไม่ดีเลย ก็ต้องรีบตื่นไปช่วยค่ะ

บางทีหนูอยากเล่นโทรศัพท์

แต่ยายกำลังทำกับข้าว หนูก็ต้องลงไปช่วยยายค่ะ

แม่ถามลูกสาวว่า ยายเรียกให้หนูลงไปช่วยเหรอ

ลูกสาวตอบว่า เปล่าค่ะ แต่หนูรู้สึกไม่ดีที่ปล่อยให้ยายทำ

จริงๆหนูก็ไม่ค่อยอยากทำสักเท่าไหร่นะคะ

เพราะน้องชายก็ไม่เห็นต้องทำอะไรเลย

ก็ไม่มีใครว่าสักคน

นั่นคือเบื้องหลัง เมื่อลูกสาวกลับมาหาแม่แล้ว เธอก็เล่าให้แม่ฟัง

แม่เล่าให้เธอฟังว่า  ลูกรู้ไหม ยายเล่าให้แม่ฟังว่า

ยายชื่นใจมากที่หลานๆมาหา และหนูก็เป็นหลานที่มีน้ำใจดีมาก

เห็นคุณตาคุณยายทำอะไรหนูก็รีบเข้ามาช่วยเหลือ

คุณยายชมเปราะให้ใครต่อใครฟังว่าหลานสาวท่านน่ารักมากมาย

แม่อยากให้หนูภาคภูมิใจในสิ่งที่หนูทำ

ภาคภูมิใจในสิ่งที่หนูเสียสละความสุขเล็กๆน้อยๆของตัวเอง

เพื่อสร้างพลังใจ ความอิ่มเอิบใจให้ตายายซึ่งมีอายุมากแล้ว

ส่วนน้องชายที่ลูกสาวบอกว่าไม่ค่อยทำอะไรเลย

เราก็จะต้องค่อยๆช่วยสอนน้องไป

เพราะเราก็รู้ว่าพื้นฐานของน้องเองก็เป็นคนมีน้ำใจดี

แต่ด้วยวัยวันที่วุ่นวายของน้องก็จะดื้อๆ ร้อนๆไปบ้าง

แล้ววันหนึ่งเค้าก็จะน่ารักมากขึ้นเพราะประสบการณ์จะสอนน้องเอง

แม่พยายามสอนลูกสาวโดยมีน้องชายร่วมนั่งรับฟังอยู่ด้วยทุกครั้ง

และแม่ก็มั่นใจว่าเจ้าลูกชายน่าจะได้ข้อคิดอะไรไปบ้าง

จากกิจการของพี่สาว

เช่นเดียวกับเรื่องบิดาผู้ใจดี เมื่อบุตรชายคนโตกลับมาจากงาน

เค้าเห็นบิดากำลังฉลองให้กับน้องชาย

ที่กลับมาจากการไปผลาญสมบัติของบิดามา

เค้าก็คงรู้สึกผิดหวัง  ไม่เข้าใจ  น้อยใจ บิดาของตน

แต่คำสอนของบิดาก็เตือนสอนใจบุตรชายคนโตว่า

สิ่งดีดีที่บิดามี เค้าก็เป็นเจ้าของ

ในขณะที่น้องหลงทางออกไป รับประสบการณ์ผิดพลาดกลับมา

เพื่อจะเป็นคนดีใหม่อีกครั้ง

สิ่งที่เราทำได้คือการให้อภัย และยินดีต่อการกลับมาของเขา

เพราะประสบการณ์เลวร้ายได้ลงโทษเค้าเรียบร้อยแล้ว

ข้าพเจ้าคิดถึงช่วงวันเวลาของการรับรางวัลต่างๆ

ในช่วงเวลาเหล่านั้น นอกจากเราจะพบกับถ้อยคำชื่นชมยินดีของบางคน

เราก็จะได้ยินคำกระแหนะกระแหนของคนบางคนเช่นกัน

ด้วยว่า เมื่อเรามองด้วยสายตาของการเปรียบเทียบ

ด้วยมาตรฐานของมนุษย์ เราก็จะมองหาข้อบกพร่องของผู้รับรางวัลนั้น

แต่หากเรามองด้วยสายตาของความยินดี

เราก็จะเห็นแต่คุณงามความดีของผู้รับรางวัล

และร่วมยินดีไปกับเขาด้วย

ข้าพเจ้าเองก็ยังต้องฝึกฝนตนเองให้พยายามมองข้อดี

ของคนรอบข้างให้มากที่สุด

เพื่อให้สายตาที่จะคอยมองหาความเลวร้าย

ผิดพลาดของคนอื่นนั้นเบาบางลง

“จิตใจข้าพเจ้าจะภูมิใจในองค์พระผู้เป็นเจ้า

บรรดาผู้ต่ำต้อยจงฟังและชื่นชมเถิด”

(สดุดี 34:2)

.....................................