ข้าพเจ้ากำลังทำวิจัยอยู่เรื่องหนึ่ง

ซึ่งเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมกระบวนการคิดไตร่ตรองของมนุษย์

ในขณะที่เขียนสภาพปัญหาและความสำคัญของการเลือกทำงานวิจัยชิ้นนี้

ข้าพเจ้าก็ทบทวนดูสภาพสังคม และการดำเนินชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน

เริ่มจากข้าพเจ้าดูพฤติกรรมของเยาวชนในโรงเรียนกับการใช้มือถือ

ดูพฤติกรรมของสมาชิกในครอบครัวกับการใช้มือถือ

เยาวชนสูญสิ้นเวลาไปกับการเล่นเกมออนไลน์

การดูและฟังคลิปซึ่งมีถ้อยคำหยาบคายและรุนแรงมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้ส่งผลแบบน้ำซึมบ่อทรายลงไปในใจเยาวชนทีละน้อยๆ

ความว่องไวที่จะเข้าช่วยเหลือคนรอบข้างน้อยลง

การคิดพิจารณาให้รอบคอบก่อนที่จะลงมือกระทำสูญหายไป

กลายเป็นการทำร้ายกันด้วยอารมณ์ผ่านสื่อออนไลน์

และมาสำนึกได้เมื่อเรื่องบานปลายกลายเป็นเชลยของสังคมไปเสีย

เยาวชนหลายคนมองเห็นข้อคำสอนทางศาสนาเป็นเรื่องงมงาย ล่าสมัย

อย่าว่าแต่เยาวชนเลย ผู้ใหญ่บางคนก็ไร้ซึ่งศาสนาด้วยเช่นกัน

เพราะคำสอนทางศาสนาเป็นกรอบบังคับให้มนุษย์ต้องหยุดคิดไตร่ตรอง

เยาวชนมองเห็นการเรียนคำสอนเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่า

หาได้มีประโยชน์ต่อการงานในชีวิตประจำวันของตนเอง

จึงหมกมุ่นอยู่กับการดิ้นรนแก่งแย่งแข่งขันกับกิจการฝ่ายโลกกันสิ้น

“จงระวังไว้ให้ดี อย่าปล่อยใจของท่านให้หมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานรื่นเริง

ความเมามายและความกังวลถึงชีวิตนี้”

(ลูกา 21 : 34)

งานวิจัยที่ข้าพเจ้ากำลังศึกษาค้นคว้าแม้มันจะเป็นเพียงงานวิจัยชิ้นฝึกหัดของข้าพเจ้า

แต่มันทำให้ข้าพเจ้าได้ทบทวน ไตร่ตรอง ถึงข้อคำสอนของพระเยซูเจ้ามากยิ่งขึ้น

ไม่ใช่อ่านเพียงฉาบฉวยไร้คุณค่า ไม่ใช่เป็นเพียงตัวอักษรที่ผ่านตาไปเท่านั้น

แต่ทุกคำทุกวลีล้วนเพาะบ่มให้ความโน้มเอียงในทางลบของมนุษย์ลดลง

และเพิ่มพลังทางบวกให้ชีวิตมากยิ่งขึ้น

ข้าพเจ้าอ่านคำอธิบายข้อคำสอนของพระเยซูเจ้าเรื่องบุตรสองคน

ของคุณพ่อชัยยะ กิจสวัสดิ์

เรื่องราวโดยสรุปคือ บิดามีบุตรชายสองคน

บิดาเรียกบุตรชายคนแรกให้ไปช่วยงานในสวน บุตรชายคนแรกตอบว่าไม่ไป

แต่สุดท้ายเขาก็ไป ส่วนบุตรชายคนที่สอง ตอบพ่อว่าจะไปแต่ไม่ไป

พระเยซูเจ้าตรัสถามว่า บุตรสองคนนี้ใครตามใจพ่อ

ข้าพเจ้าเองก็ตอบว่าบุตรคนแรกมากตลอด

แม้ว่าการกระทำย่อมสำคัญกว่าคำพูด

แต่การที่เราแสดงออกทั้งคำพูดและการกระทำย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่ามิใช่หรือ

อย่างไหนจะน่าชื่นใจมากกว่ากัน

“พี่น้อง องค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดให้ความรักที่ท่านมีต่อกัน และต่อทุกคนเพิ่มพูนขึ้น

อย่างล้นเหลือดังที่เรารักท่าน”

(1เธสะโลนิกา 3:12)

ข้าพเจ้าจึงเห็นว่ากระบวนการคิดไตร่ตรองต่อพระวาจาของพระเจ้า

สำหรับคริสตชนที่ต้องดำรงชีวิตอยู่สังคมปัจจุบันนี้

มีความสำคัญในฐานะที่จะเป็นกรอบคอยปกป้องเราจากการประจญล่อลวง

เป็นเสียงกระตุ้นเตือนให้รอบคอบ ละเอียดลออ

ในการคิดไตร่ตรองก่อนลงมือกระทำการสิ่งใด

เป็นแหล่งพลังในการเติมไฟชีวิตเพื่อต่อสู้กับสิ่งชั่วร้าย

ที่กำลังประดาหน้าเข้ามาในทุกช่องทาง

และทำให้คริสตชนเป็นผู้ที่รู้จักฟังมากกว่าพูดด้วยเช่นกัน

และรู้จักที่จะเป็นกำลังใจ เป็นพลังใจให้แก่กันและกัน

ใส่ใจกันและกันในทุกคำพูด ทุกการกระทำ ด้วยความรักอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงรัก

“อย่าให้เราเหนื่อยล้าในการทำดี

เพราะว่าถ้าเราไม่ท้อใจ แล้วเราก็จะเกี่ยวเก็บในเวลาอันสมควร”

(กาลาเทีย 6:9)

..............................

S