“ข้าแต่พระเยซู โปรดทรงระลึกถึงข้าพเจ้าด้วย
เมื่อพระองค์จะเสด็จสู่พระอาณาจักรของพระองค์”
(ลูกา 23:43)
..........................................
วาระสุดท้ายของโจรสองคน
คนหนึ่งกล่าวขึ้นมาว่า “จงช่วยตนเองและช่วยเราให้รอดด้วยซิ”
ในขณะที่อีกคนหนึ่งกล่าวว่า
“โปรดระลึกถึงข้าพเจ้าด้วย”
บางครั้งเราก็ขาดความสุภาพนบนอบในใจไม่ต่างอะไรกับโจรคนแรก
เรามีสายตาไว้ดูถูก ดูแคลนคนที่เรามองว่าต่ำต้อยกว่าเรา
เรามีวาจาไว้คอยบั่นทอนจิตวิญญาณของคนรอบข้าง
เราพร้อมจะเหยียบย่ำซ้ำเติมคนที่เราไม่พึงพอใจเมื่อเขาพลาดล้มลง
ตราบใดที่เศรษฐีเข้าประตูสวรรค์ยากแล้ว
คนที่จองหองและทะนงตนก็เข้าประตูสวรรค์ยากยิ่งนักด้วยเช่นกัน
ข้าพเจ้าสอนเด็กชายคนหนึ่งอายุประมาณ 7 ขวบ
เขาเป็นเด็กชายที่ไม่ชอบต่อสู้ใคร เมื่อถูกรังแก หรือถูกดุว่า เขาจะก้มหน้า
จนเพื่อนๆผู้ชายของเขาบางคนมีความสนุกกับการได้แกล้งเขา
บางครั้งก็เอาขี้ยางลบไปใส่ไว้ในกล่องดินสอของเด็กชายผู้น่าสงสารคนนี้
หรือบางทีก็เอาขยะไปไว้ใต้โต๊ะของเขา
คนอ่อนแอมักถูกทำร้ายจากคนที่แข็งแรงกว่าใช่ไหม
อาจจะใช่ แต่เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น
เพื่อนๆบางคนอาจจะยังแกล้งเขาบ้างเพื่อสร้างความสุขสะใจให้กับตนเอง
แต่เพื่อนส่วนใหญ่เรียนรู้ที่จะอยู่กับเขาอย่างเห็นอกเห็นใจ
บางคนเข้าใจและคอยช่วยเหลือ ปกป้องเขาจากเพื่อนที่เกเร
มนุษย์มีพื้นฐานดวงใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก
หากแต่เราจะเลือกหยิบยื่นสิ่งใดให้กับคนรอบข้างก็เท่านั้นเอง
.....................................................
โจรคนหนึ่งดุโจรอีกคนหนึ่งที่พูดดูหมิ่นพระเยซูเจ้า
และแสดงแบบอย่างท่าทีของความสุภาพ ถ่อมตนให้โจรคนนั้นได้เห็น
หลายครั้งที่เรามองดูความก้าวร้าว ความไม่น่ารักของคนบางคน
แต่เราก็ไม่ได้ใส่ที่จะช่วยเหลือ ซ้ำร้ายเรายังคอยจ้องมองดูเขาพลาดพลั้งล้มลง
เพื่อจะเยาะเย้ยถากถางด้วยความสะใจเสียอีกด้วย
พระศาสนจักรเป็นเหมือนครอบครัวใหญ่ของเรา
สมาชิกในพระศาสนจักรคือพี่น้องของเรา
เมื่อพี่น้องเราทำผิด เราต้องตักเตือนดูแล และช่วยเหลือ
อาจจะด้วยรูปแบบการตักเตือนที่แตกต่างกันไป
ตักเตือน ไม่ใช่เพื่อแสดงอำนาจ ตักเตือนไม่ใช่เพื่อเอาชนะ
แต่ตักเตือนด้วยความรักเพื่อให้เขาได้เดินไปพร้อมกันกับครอบครัวใหญ่ของเรา
“ข้าพเจ้ายินดีเมื่อมีผู้บอกข้าพเจ้าว่า
“เราจงไปยังบ้านขององค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยกันเถิด”
บัดนี้ เยรูซาเล็มเอ๋ย เท้าของเรามายืนที่ประตูของเจ้าแล้ว”
(สดุดี 122:1-2)
มีคำกล่าวไว้ว่า
“การกระทำนั้นย่อมสำคัญกว่าคำพูด”
เพราะคำพูดที่ออกจากปากของเรา
ก็เป็นเพียงแค่ลมปากที่พัดปลิวออกมาแล้วก็หายไปในอากาศ
แต่การกระทำของเราถูกมองเห็นด้วยสองตา
ถูกสัมผัสด้วยความรู้สึกในจิตใจ
มันจะถูกจดจำไว้ตราบนานเท่านาน
บางทีการตักเตือนด้วยคำพูดก็มักถูกต่อต้าน
หากผู้พูดยังไม่ได้กระทำในสิ่งที่ตนพูดนั้นเลย
ข้าพเจ้ามองแบบอย่างของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9
แบบอย่างของพระองค์ท่านเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก
เมื่อการกระทำของพระองค์ท่านเป็นแบบอย่างที่ชัดเจนแล้ว
คำพูดของพระองค์ท่านย่อมมีอำนาจตามมาด้วย
แบบอย่าง และคำสอนของพระองค์ท่านมุ่งเน้นเพื่อพสกนิกรของพระองค์
จะได้เป็นคนดี รักกันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างพอเพียง
“ข้าพเจ้ายินดีเมื่อมีผู้บอกข้าพเจ้าว่า
“เราจงไปยังบ้านขององค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยกันเถิด”
บัดนี้ เยรูซาเล็มเอ๋ย เท้าของเรามายืนที่ประตูของเจ้าแล้ว”
(สดุดี 122:1-2)
................................................
เราจงไป ยังบ้านแท้ แห่งพระเจ้า
สองมือเรา เกาะเกี่ยวไป ในสถาน
ร่วมเป็นหนึ่ง เดียวกัน ด้วยท่อธาร
ที่พระพร ไหลผ่าน ตรงกลางใจ
อย่าให้มี ใครพลาด หลงทางชั่ว
อย่าให้ทาง มืดมัว ครอบครองได้
จะเกาะเกี่ยว ด้วยรัก ทุกดวงใจ
สู่ราชัย แห่งวิมาน บ้านของเรา
........................................... |