“เพราะถ้าท่านให้อภัยผู้ทำความผิด

พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์

ก็จะประทานอภัยแก่ท่านด้วย”

(มัทธิว 6:14)

.................................................

คำสอนท้ายบทภาวนาที่พระเยซูเจ้า

ทรงสอนให้เรารู้จักที่จะภาวนาและ

คิดถึงพระบิดาผู้ทรงสถิตในสวรรค์

การให้อภัยเป็นความรู้สึกที่ต้องใช้เวลา

แต่ระยะของการใช้เวลาก็เป็นเครื่องพิสูจน์

ว่าเราสามารถเอาชนะใจตนเองได้มากน้อยแค่ไหน

ที่จะยอมลดทิฐิ ความรู้สึกเอาชนะของตนเองลงได้

ความรู้สึกขัดแย้งในใจ

ความลำบากที่จะก้าวให้พ้นจากแรงกดดันแห่งอารมณ์

ร่องรอยของภาพและเสียงของการกระทำที่ถูกกระทำ

มักฉายวนไปวนมาเหมือนหนังในอดีตที่เอากลับมาฉายย้อนใหม่

เป็นแรงผลักดันให้การอภัยทำได้ยากเย็นยิ่งขึ้น

ก้าวแรกของการให้อภัยคือการยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นในใจเสียก่อน

ว่าเป็นธรรมดาของมนุษย์ที่เกิดมาในสภาวะที่แตกต่างกัน

ความแตกต่างบางทีก็ทำให้เกิดความขัดแย้ง

แต่บางทีก็ทำให้เกิดความสมดุลด้วยเช่นกัน

ความแตกต่าง....

ทั้งการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน  สภาพสังคม สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน

เขาจึงไม่เหมือนเรา และเราก็ไม่เหมือนเขา

เราก็มีข้อบกพร่อง เขาก็มีข้อบกพร่อง

พ่อสอนว่าให้ระลึกไว้เสมอว่า

แต่ละคนต่างก็พยายามที่จะเป็นคนดีเหมือนกัน

ในวิธีของตนเอง

เมื่อเราทำใจให้ยอมรับความแตกต่างได้แล้ว

การก้าวข้ามผ่านความรู้สึกขัดแย้งก็จะลดลง

อาศัยเวลาและพระหรรษทานในการเยียวยารักษาทั้งใจเขาและเรา

ปรับใจตัวเราเองให้นิ่ง สงบพอที่จะให้อภัย

และให้พระสมานใจเราและเขาให้เป็นหนึ่งเดียว

.........................................................

ความแตกต่าง...บางทีก็เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง

เมื่อต่างคนต่างกั้นกำแพงไม่ให้อีกฝ่ายข้ามผ่านมาได้

และต่างก็ขว้างเศษอารมณ์โกรธเกรี้ยวเข้าใส่

ให้อีกฝ่ายย่อยยับไปและตนเองได้ความสะใจกลับคืน

ความแตกต่าง...บางทีก็เป็นสมดุลของชีวิต

ถ้าเราคิดว่าเรามีเราก็แบ่ง เขามีเขาก็ปันสังคมก็ราบรื่น

ความแตกต่างคือสีสัน ความขัดแย้งกลับทำให้กล้ำกลืน

การอภัยคือการย้อนคืน ให้เราหยัดยืนอยู่บนเส้นทางธรรม

....................................................................