!!!--- ประวัติสังฆมณฑล ---!!!
ยุคแรก
จันทบุรี เมืองลี้ภัยสำหรับคริสตังญวน ที่อพยพหนีการเบียดเบียนศาสนาในโคชินไชน่า
(ปี ค.ศ. 1707 – 1838)
....................................................................................................

ฯพณฯ ปีแอร์ ลังแบร์ต เดอ ลามอตต์
ผู้ก่อตั้งมิสซังสยาม
ปี ค.ศ. 1707
รัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ พระคุณเจ้าเดอ ซีเซ (De Cice') ปกครองมิสซังสยาม คุณพ่อเฮอด (Heutte) ออกจากอยุธยาไปโคชินไชน่า นำคุณพ่อนิโกลัส โคแลนติโน (Nicolas Tolentino) พระสงฆ์ชาวฟิลิปินส์ไปที่จันทบุรีเพื่อเปิดวัด คุณพ่อเฮอด อยู่ที่จันทบุรีตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม ที่นั่นมีคริสตังญวน ประมาณ 120 - 130 คน เป็นลูกหลานของญวน ชาวโคชินไชน่า ที่อพยพหนีการเบียดเบียนในประเทศของตน ทางมิสซังได้ตกลงสร้างวัดน้อยขึ้นหลังหนึ่ง ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำจันทบุรี และให้มีพระสงฆ์ประจำอยู่ ดังนั้น คุณพ่อนิโกลัส โคแลนติโน จึงเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก วัดน้อยคงตั้งอยู่ในที่ของวัดโบสถ์ปัจจุบัน (วัดพุทธ)
ปี ค.ศ.1739
วัดจันทบุรีถูกปิด และคริสตังถูกนำไปที่อยุธยารวมกับคนญวนอื่น เขาจัดให้คริสตังอยู่ค่ายญี่ปุ่นที่ว่างอยู่ สาเหตุการย้าย คือ ทางการไทยสงสัยพวกญวนที่อยู่ทางจันทบุรีเป็นโจรสลัด เขาไม่ได้แยกว่าเป็นคริสตังหรือไม่ แต่บางคนได้หนีเข้าไปในป่า เวลานั้นผู้ดูแลคริสตัง คือ คุณพ่อคาบริเอล (Gabriel) เป็นพระสงฆ์ไทยลูกครึ่ง ท่านได้กลับไปที่อยุธยาพร้อมกับคริสตัง ในระหว่างที่คุณพ่อเจ้าอาวาส และคริสตังอพยบไปนั้น วัดหลังแรกก็ถูกรื้อทำลายไป

ฯพณฯ ปัลลือ
ผู้ก่อตั้งมิสซังสยาม
ปี ค.ศ. 1753
คุณพ่อเดอ โกนา (De Cauna) มาเป็นเจ้าอาวาส บรรดาคริสตังที่หนีไปอยู่ตามป่า ค่อย ๆ ทยอยกันกลับมาและช่วยกันสร้างวัดหลังที่สองขึ้น
ปี ค.ศ. 1766
ก่อนที่อยุธยาจะแตก คุณพ่ออารโต (Artaud) อธิการและคุณพ่อแกรแฮรเว (Kerherve') ได้พาเณร 30 คน ไปอาศัยอยู่ที่จันทบุรีชั่วคราว (จากเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนพฤศจิกายน) จากนั้นเณรไปอยู่ที่ฮ่องดาด (Hondat) ประเทศเขมร เวลานั้น คุณพ่อยาโกเบ ชัง สงฆ์จีนศิษย์เก่าบ้านเณรอยุธยา ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1760 ระยะเวลา 2 ปี หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา ท่านเป็นพระสงฆ์เพียงองค์เดียวในประเทศสยาม
ปี ค.ศ. 1779
พระเจ้าตากสินทรงไล่ พระคุณเจ้าเลอบอง (Lebon) กับธรรมทูตสองคนออกจากประเทศสยาม คุณพ่อชัง ยังคงเป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรี และเป็นพระสงฆ์องค์เดียวในสยามอีกครั้ง
 
ปี ค.ศ. 1780 - 1791
คุณพ่อลิโอ (Liot) หนีการเบียดเบียนศาสนาในโคชินไชน่า มาอาศัยอยู่ที่จันทบุรีพร้อมกับเณรญวน 20 คน คุณพ่อลิโอได้ช่วยเหลือคุณพ่อชัง ที่ชรามากแล้ว สันนิษฐานว่าท่านมรณะประมาณปี ค.ศ. 1800

ฯพณฯ ฟลอรังส์
ปี ค.ศ. 1788
คุณพ่อฟลอรังส์ (Florens) มาที่จันทบุรีเป็นธรรมทูตใหม่ คุณพ่อลิโอ
เป็นผู้ต้อนรับและให้คำแนะนำในการแพร่ธรรม คุณพ่อฟรอรังส์เป็นคนแรกที่เริ่มประกาศพระวรสารตามหมู่บ้านใกล้จันทบุรี และเป็นผู้ตั้งกลุ่มคริสตชนที่บ้านแสลง
ปี ค.ศ. 1791
คุณพ่อฟรอรังส์ เป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรี และอธิการบ้านเณร ได้รับลูกวัดจันทบุรีคนแรกที่สมัครเป็นเณร คือ เณรมาธีอัส โด คุณพ่อยังไปเยี่ยมคริสตังที่กรุงเทพฯ ในช่วงเวลาที่พระคุณเจ้าการ์โน (Garnauld) อยู่ที่ปีนัง และในปี ค.ศ. 1810 คุณพ่อฟลอรังส์ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช
 
ปี ค.ศ. 1803
คุณพ่อมาธีอัส โด (Mathias Do) พระสงฆ์ญวนลูกวัดจันทบุรี ที่พระคุณเจ้าการ์โนได้บวชให้ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรี ในต้นปี ค.ศ. 1834 ได้ย้ายวัดมาสร้างที่ฝั่งซ้าย (ตะวันออก) ของแม่น้ำจันทบุรี นับว่าเป็นวัดหลังที่สาม คือ เป็นที่ตั้งของวัดหลังปัจจุบัน และคุณพ่อได้มรณะภาพที่วัดจันทบุรี ในปี ค.ศ. 1834
 
ปี ค.ศ. 1805
ได้มีการรวบรวมสตรีเพื่อตั้ง คณะภคินีรักไม้กางเขน ที่จันทบุรี
 
 
คณะภคินีรักไม้กางเขน

นักบุญกือโน
ปี ค.ศ. 1833
พระคุณเจ้าตาแบรด (Taberd) กับธรรมทูต และสามเณรอีก 15 คน หนีการเบียดเบียนศาสนาจากจักรพรรดิมิงมังห์ แห่งโคชินไชน่า มาอาศัยที่จันทบุรี บรรดาธรรมทูตนั้นได้ช่วยอภิบาลคริสตังด้วย
ปี ค.ศ. 1833 - 1834
ในบรรดาธรรมทูต นักบุญกือโน (Cuenot) ได้ทำหน้าที่เจ้าอาวาสวัดจันทบุรี
ปี ค.ศ. 1834 - 1838
คุณพ่อเกลบังโซ ธรรมทูตใหม่ถูกส่งไปอยู่ที่จันทบุรี เพื่อเรียนภาษาญวน และได้ทำหน้าที่เจ้าอาวาสต่อจาก คุณพ่อมาธีอัส โด

พระคุณเจ้าปัลเลอกัว
ปี ค.ศ. 1838
หลังจากคุณพ่อรังแฟง (Ranfaing) รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส คุณพ่อได้ขออนุญาตพระคุณเจ้าปัลเลอกัว สร้างวัดจันทบุรีเป็นอิฐอย่างถาวร ในปี ค.ศ. 1855 และในปี ค.ศ. 1838 นั้น ที่วัดจันทบุรีมีคริสตังประมาณ 750 คน สมัยนั้นเมืองจันทบุรีมีพลเมืองราว 5,000 คน คริสตังเป็นคนจนมีอาชีพหาปลา วัดยังไม่มีโรงเรียน และมีแม่พระปฏิสนธินิรมลเป็นองค์อุปถัมภ์ของวัดจันทบุรี คริสตังก็ได้ถูกบังคับให้ทำงานราชการ 8 ถึง 15 วัน และต้องส่งไม้จันทน์เป็นส่วยแก่รัฐบาล คริสตังวัดจันทบุรี ได้ถวายเพชรพลอยแก่พระคุณเจ้าปัลเลอกัว เพื่อประกอบแหวนพระสังฆราช คุณพ่อรังแฟงเป็นเจ้าอาวาสที่เคร่งครัดในงานการอภิบาลสัตบุรุษ ก่อนจะรับศีลมหาสนิทต้องแก้บาปหลายครั้ง ใครผิดศีลกล่าวเมื่อกลับใจต้องมาขอโทษที่วัดต่อหน้าสัตบุรุษ และถูกทำโทษ ท่านถือว่าความเคร่งครัดเป็นวิธีเดียวเพื่อรักษาความเชื่อ และศรัทธาของสัตบุรุษ


ยุคที่ 2
คริสตศาสนาแพร่ขยายในภาคตะวันออกเฉียงใต้
(ปี ค.ศ. 1838 – 1938)
.............................................................................
ระยะแรก สมัยบุกเบิก
(ปี ค.ศ. 1838 – 1910)
ก่อนรัชกาลที่ 3 ในภูมิภาคนี้ไม่ค่อยมีคนอาศัยอยู่ มีที่ดินว่างเปล่า อาจเป็นเพราะการรบกันระหว่างสยามกับเขมร ในสมัยก่อนคนที่มาอาศัยตั้งแต่สมัยราชกาลที่ 3 เป็นคนที่กองทัพไทยต้อนมาจากลาว หรือเขมร และยังเป็นสมัยที่คนจีนมาในประเทศสยามทั้งหมดเป็นคนต่างถิ่น เขาจึงสนใจศาสนาคริสต์ เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ แต่คนไทยเดิมที่อยู่ในเขตนี้ได้มีการต่อต้านศาสนาคริสต์ และพยายามไม่ให้คนมาใหม่เข้าศาสนาคริสต์
ผู้บุกเบิกในลุ่มแม่น้ำบางปะกง
คนแรก คือ
คุณพ่ออัลบราง
(Albrand)
แม้ว่าพระคุณเจ้าปัลเลอกัวได้เคยมาเยี่ยมคริสตังที่อยู่บางปลาสร้อย ในปี ค.ศ. 1838 คุณพ่ออัลบรางได้เริ่มตั้งกลุ่มคริสตังจีนขึ้น คุณพ่อได้เปิดศูนย์อบรมคนจีนที่วัดกาลหว่าร์ และเตรียมครูคำสอน ในราวปี ค.ศ. 1840 – 1841 คุณพ่อได้ส่งครูคำสอนจีนให้คุณพ่อรังแฟงที่จันทบุรี เพราะว่าที่จันทบุรีมีคนมาก คุณพ่อได้รวบรวมคริสตังจีนที่บางปลาสร้อย และบ้านใหม่ (แปดริ้ว)
คนที่สอง คือ
คุณพ่อแวร์เนท์
(Vernhet)
คุณพ่อได้ไปเยี่ยมคริสตังที่คุณพ่ออัลบราง ได้รวบรวมไว้ และถวายบูชามิสซาที่บ้านของหญิงชราคนหนึ่งที่บางปลาสร้อย ต่อมาคุณพ่อจำเป็นต้องออกจากบางปลาสร้อย เนื่องจากทางการมีอคติต่อศาสนาคริสต์ ก่อนที่คุณพ่อเกโก จะไปอยู่ที่บางปลาสร้อย
คนที่สาม คือ
คุณพ่อดานีแอล
(Daniel)
คุณพ่อได้ซื้อที่ดินที่บางปลาสร้อย และได้สร้างวัดเป็นไม้ไผ่ ในปี ค.ศ. 1857 รวมทั้งได้สร้างวัดเป็นไม้ไผ่ที่ บ้านใหม่ ในปี ค.ศ. 1858 พระคุณเจ้าปัลเลอกัวได้ เสกวัดหลังแรกของบ้านใหม่ ในปี ค.ศ. 1859 คริสตังทั้งสองวัดเป็นคนจีน โดยทั้งสองวัดมีพระสงฆ์องค์เดียวคอยดูแล ในขณะที่คุณพ่อดานีแอลอยู่บ้านใหม่ มีชาวเขมรคนหนึ่งเป็นผู้ใหม่บ้านของ บ้านหาดสะแก ได้เชิญคุณพ่อไปอบรมชาวบ้านที่อยากเข้าศาสนา และคุณพ่อได้สร้างวัดหลังหนึ่งที่นั่น

คุณพ่อชมิตต์
คนที่สี่ คือ
คุณพ่อชมิตต์
(Schmitt)
พระสงฆ์ที่เคยทำงานในเขตนี้ แต่ก่อนจะมาจากกรุงเทพและไป ๆ มา ๆ ไม่ได้อยู่ตลอดเวลา ส่วนคุณพ่อชมิตต์ได้อยู่เขตนี้เกือบตลอดชีวิต คุณพ่อจึงได้ตั้งวัดหลายแห่ง รวมทั้งได้ทำประโยขน์หลายอย่างเช่น
- รวบรวมคริสตังที่ท่าเกวียน (พนมสารคาม) ในปี ค.ศ. 1868
- ตั้งกลุ่มคริสตังขึ้นที่พนัสนิคม ปี ค.ศ. 1868
- ตั้งวัดที่ปากคลองท่าลาด (บางคล้า) ในปี ค.ศ. 1868 ซึ่งทีแรกชาวบ้านไม่ยอมขายที่ดินให้คุณพ่อ เพราะเขาต่อต้าน ศาสนาคริสต์ คุณพ่อจึงได้อาศัยคริสตังเช่าห้องแถว
- ตั้งวัดบ้านเล่าในปี ค.ศ. 1872
- ตั้งกลุ่มคริสตังที่ดอนกระทุ่มยาง ปี ค.ศ. 1893
ที่จริงยังมีหลายหมู่บ้าน ที่เป็นคนลาวใกล้ภูเขานครนายก ที่อยากเข้าศาสนาคริสต์ แต่ชาวพุทธขู่ไม่ให้ติดต่อกับบาทหลวง คุณพ่อได้ซื้อที่ดินฝั่งซ้ายของแม่น้ำบางปะกงและได้สร้าง วัดนักบุญเปาโล มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1873 คุณพ่อได้สร้างบ้านพักพระสงฆ์ สร้างโรงเรียนสองหลัง คริสตังที่คุณพ่อดูแลส่วนมากเป็นคนจีนหรือลาว มีญวนบางที่บ้านเล่า อนึ่งคุณพ่อเป็นนักภาษาศาสตร์ ได้แปลคำจารึกโบราณหลายแห่ง รวมทั้งได้แปลคำจารึกบนศิลารามคำแหงด้วย

คุณพ่อเกโก
คนที่ห้า คือ
คุณพ่อเกโก
(Mathurin Guego)
ในสมัยที่คุณพ่อได้ดูแลกลุ่มคริสตังที่บางปลาสร้อยและที่พนัสนิคม คุณพ่อได้สร้างนิคมที่โคกกระเรี่ยงและที่หัวไผ่ ในปี ค.ศ. 1884 ด้วยการร่วมมือกับคุณพ่อสมิตต์ที่ได้ให้ทุนเพื่อไถ่ทาสหนี้สิน ผู้ที่ได้รับการไถ่จะเข่าไปอยู่ในนิคมหากเขาสมัครใจเข้าศาสนาคริสต์ แต่คนที่อยู่ในนิคมไม่ใช่มีเพียงทาสเท่านั้น แต่มีญาติและเพื่อนบ้านของอดีตทาสมากกว่า เพราะเขาชื่นชม ความยุติธรรม ความสามัคคี และความสงบสุขของสมาชิกในนิคม คุณพ่อเกโกดูแลกลุ่มคริสตังที่ทุ่งเหียง และได้ตั้ง กลุ่มคริสตังที่บ้านโพธิ์ ในปี ค.ศ. 1894 บรรดาคริสตังที่คุณพ่อดูแลส่วนมากจะเป็นคนไทย
คนที่หก คือ
คุณพ่อรองแดล
(Randel)
คุณพ่อเคยเป็นธรรมทูตในภาคอีสานหลายปี เมื่อกลับมาภาคกลาง คุณพ่อถูกส่งไปเป็นธรรมทูตตามหมู่บ้านคนลาวแถบปราจีนบุรี คุณพ่อรองแดลได้นำคริสตังจากดอนกระทุ่มยาว ไปรวมกับคริสตังใหม่ที่เป็นคนลาว และตั้งเป็น หมู่บ้านโคกวัด โดยร่วมมือกับ คุณพ่อเซแลสติโน ในปี ค.ศ. 1948
คนที่เจ็ด คือ
คุณพ่อยอห์น เหียง
ปลัดวัดลำไทร คุณพ่อได้ก่อตั้งกลุ่มคริสตังที่หัวควาย (เสาวภา) ในปี ค.ศ. 1904
คนที่แปด คือ
คุณพ่อแปรัว
ได้ตั้ง กลุ่มคริสตังที่แหลมโขด ในปี ค.ศ. 1910
การขยายกลุ่มคริสชนบริเวณจันทบุรี

วัดจันทบุรีเมื่อปี 1994
คุณพ่อรังแฟง
ซึ่งได้สร้างวัดจันทบุรีใหม่ ในปี ค.ศ. 1855
คุณพ่อแกงตริ๊ก
ปลัดวัดจันทบุรี ได้ตั้งกลุ่มคริสตังขึ้นที่วัดยาว (วัดขลุง) ในปี ค.ศ. 1875
คุณพ่อกึงอัส
เจ้าอาวาสวัดจันทบุรี ได้สร้างวัดที่แหลมประดู่และท่าใหม่ ต่อมาปี ค.ศ. 1900 สมัยคุณพ่อเปริกัล เป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรี คุณพ่อได้ซื้อที่ดินและสร้างวัดที่ตราด ในปี ค.ศ. 1906 คุณพ่อได้เริ่มดำเนินการ สร้างวัดจันทบุรีหลังปัจจุบัน มีพิธีเสกวันในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1909
................................................................................................
ระยะที่สอง
(ค.ศ. 1910-1938)
เป็นสมัยอบรมคริสตังให้เป็นผู้ใหญ่ในความเชื่อ เป็นสมัยสร้างวัดถาวร และพระสงฆ์จะดูแลคริสตังเก่ามากกว่าจาริกไปหาคริสตังใหม่ คนต่างศาสนาที่สนใจสมัครเข้าศาสนาคริสต์ มีเหตุผลหลายประการเป็นต้นเพื่อแต่งงานกับคริสตัง


ยุคที่ 3
การสถาปนามิสซังจันทบุรี
.................................................................................

สมัยพระคุณเจ้า
ยาโกเบ
แจง เกิดสว่าง
(ค.ศ. 1944-1952)
          มิสซังจันทบุรีแต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของมิสซังกรุงเทพฯ ได้แยกเป็นมิสซังใหม่ขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1944 มีชื่อว่า “มิสซังจันทบุรี” มีพื้นที่ประมาณ 34,000 ตร.กม. รวม 7 จังหวัด ได้แก่ 1.ตราด 2.จันทบุรี 3.ระยอง 4.ชลบุรี 5.ฉะเชิงเทรา 6.นครนายก และ 7.ปราจีนบุรี สำหรับ จังหวัดฉะเชิงเทราฝั่งขวาของแม้น้ำบางปะกงเป็นของมิสซังกรุงเทพฯ และที่จังหวัดนครนายก อ.บ้านนาเป็นของมิสซังกรุงเทพฯ (ตั้งแต่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1993 มีจังหวัดสระแก้วเพิ่มอีก 1 จังหวัด)
          พระคุณเจ้าเรอเน แปร์รอส ได้ชื่นชมยินดีที่ได้ทำการอภิเษก คุณพ่อยาโกเบ แจง เกิดสว่าง เป็นพระสังฆราช เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1945 ทั้งนี้เพราะพระคุณเจ้าเรอเน แปร์รอส ได้เป็นผู้อบรมพระคุณเจ้าแจง เกิดสว่าง ตั้งแต่สมัยเป็นเณรใหญ่ และได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์จากพระคุณเจ้าเอง ในวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1910 พระคุณเจ้าแจง เกิดสว่าง เป็นพระสังฆราชไทยองค์แรกของประเทศไทย และมีพระสงฆ์จำนวน 16 องค์ เป็นผู้ร่วมงานที่เป็นคนไทยทั้งหมด
          “เพื่อเพิ่มพระเกียรติมงคลของพระเป็นเจ้า” เป็นประโยคที่น่าจะบ่งชี้ถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสมัยของพระคุณเจ้าแจงได้อย่างดี ขณะที่พระคุณเจ้าเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวไผ่ ได้ซื้อที่ดินที่ศรีราชาซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านเณรพระหฤทัย ศรีราชา อยู่ทุกวันนี้ เหตุการณ์ที่สำคัญในสมัยพระคุณเจ้าแจง มีดังนี้
  
คุณพ่อเอมินทร์ อารีพรรค
ปี ค.ศ. 1945
คุณพ่อเอมินทร์ อารีพรรค เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเตยใหญ่ ได้สร้างวัดแม่พระปฏิสนธินิรมล เตยใหญ่ และพระคุณเจ้าแจง ได้เป็นประธานเสกวัด เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์
ปี ค.ศ. 1947
พระคุณเจ้าแจง ได้ซื้อที่ดิน อ.สัตหีบ จำนวน 7 ไร่ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดแม่พระลูกประคำสัตหีบ ทางด้านศรีราชา มีคุณพ่อสงวน สุวรรณศรี เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดศรีราชา ได้สร้างอาคารเรือนไม้ 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นโรงเรียนดาราสมุทร ชั้นบนเป็นวัด
   
คุณพ่อชิ่น ไชยเจริญ
ปี ค.ศ. 1949
พระคุณเจ้าแจง ได้ติดต่ออธิการิณีอารามคาร์แมล กรุงเทพฯ ให้มาเปิดอารามในมิสซังจันทบุรี เพื่อว่าภคิณีจะได้ภาวนาเป็นพิเศษสำหรับพระสงฆ์ และงานแพร่ธรรม ที่จังหวัดตราดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1929 ได้มีคริสตังจากจันทบุรี ขลุง ปากน้ำโพ อพยพมาประกอบอาชีพที่ตรา ทั้งนี้มีพระสงฆ์จากวัดจันทบุรีมาดูแล และเมื่อคุณพ่อชิ่น ไชยเจริญ เป็นเจ้าอาวาสวัดขลุงก็ได้รับมอบหมายให้ดูแลคริสตังที่ตราดด้วย
ปี ค.ศ. 1950
พระคุณเจ้าแจงได้สร้าง สำนักพระสังฆราช ที่ศรีราชา เพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองมิสซัง แต่พระคุณเจ้าพำนักที่วัดหัวไผ่
ปี ค.ศ. 1951
เริ่มก่อสร้างอารามคาร์แมล ที่จันทบุรี มีพิธีเสกและเปิดอาราม เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1952 และคุณพ่อบุญชู ระงับพิษ ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอารามฟาติมาของคณะธิดากางเขน ณ จันทบุรี ทางด้านคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ได้เข้ามาเปิดโรงเรียนวจนคาม ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น เซนต์ปอล คอนแวนต์ ศรีราชา
  ปี ค.ศ. 1952 ในวันที่ 14 เมษายน พระคุณเจ้าแจงได้ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบ ณ วัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ
................................................................................................................

สมัยพระคุณเจ้า
ฟรังซิส เซเวียร์
สงวน สุวรรณศรี
(ค.ศ. 1953 – 1970)
พระคุณเจ้าสงวนได้รับการอภิบาษที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1953
 
ปี ค.ศ. 1954
วันที่ 24 เมษายน วัดนักบุญยอแซฟ พนัสนิคม เกิดไฟไหม้ ทำให้ต้องสร้างวัดชั่วคราว หลังคามุงจาก มีสังกระสีเป็นฝา
 
ปี ค.ศ. 1956
ในปีนี้ ได้มีการรวบรวม กลุ่มคริสตังที่นครนายก และมีคุณพ่อโกเชต์ที่อยู่หนองรี ได้มาถวายมิสซาให้ที่บ้านของนายบุญธรรม ทารีมุกข์
 
ปี ค.ศ. 1957
คริสตังจากวัดโคกวัดจำนวนหนึ่งอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านทัพ (จ.สระแก้ว)
ในช่วงนี้ คุณพ่อจากวัดจันทบุรี ได้รับมอบหมายให้มาดูแลกลุ่มคริสตังที่ย้ายจากวัดจันทบุรีมาอยู่ที่ มูซู และได้ดำเนินการสร้างวัดแม่พระถวายองค์ในพระวิหาร
 
ปี ค.ศ. 1958
พระคุณเจ้าสงวน ได้เชิญคณะซิสเตอร์พระกุมารเยซู มาเปิดโรงเรียนที่ชลบุรี ซึ่งคุณพ่อแรกเชอร์ หรือ คุณพ่อมาโต ได้มอบที่ดินไว้ให้เพื่อการศึกษาจำนวน 12 ไร่
 
ปี ค.ศ. 1959
คุณพ่อโรเบิร์ต มาร์ติน คณะสงฆ์พระมหาไถ่ได้เช่าบ้านพักติดชายทะเล ศรีราชา เปิดบ้านเณรพระมารดานิจจานุเคราห์ และต่อมาสร้างเป็นบ้านเณรอย่างถาวรในที่ใหม่ ในปี ค.ศ. 1963 ทางด้านจังหวัดปราจีนบุรี เมื่อคุณพ่อสุเทพ นามวงศ์ มาเป็นเจ้าอาวาส ได้สร้างวัดหลังปัจจุบันขึ้น
  
คุณพ่อบุญชู ระงับพิษ
ปี ค.ศ. 1960
คุณพ่อบุญชู ระงับพิษ ได้ดำเนินการก่อสร้างวัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ (วัดหลังปัจจุบัน) ขณะเดียวกัน คุณพ่ออรุณ ธรรมธาดา ได้สร้างวัดอารักขเทวดา โคกวัด (วัดปัจจุบันเป็นหลังที่ 3) และคุณพ่อมาร์ติน สงฆ์คณะพระมหาไถ่ด้ช่วยดูแลกลุ่มคริสตังที่อำเภอสัตหีบ
ปี ค.ศ. 1961
พระคุณเจ้าสงวน มอบหมายให้คุณพ่อบุญชู สร้างอาคาร 2 ชั้น 1 หลัง เพื่อเป็นโรงเรียนอนุบาลละมุนอนุกูล ที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ พระคุณเจ้าสงวนได้มอบกิจการโรงเรียนของมิสซัง 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ โรงเรียนยอแซฟวิทยา โรงเรียนมารีวิทยา ให้แก่ซิสเตอร์คณะธิดากางเขน ณ จันทบุรี เป็นผู้ดำเนินกิจการเพื่อจะได้มีรายได้สำหรับคณะต่อไป
 
ปี ค.ศ. 1962
คณะคามิลเลี่ยน ได้เริ่มเข้ามาทำงานในมิสซังจันทบุรี โดยเปิดโรงพยาบาลภายในโรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา
คุณพ่อวิจิตร ไตรภพ ได้สร้างวัดธรรมมาสน์นักบุญเปโตร ท่าแฉลบ (วัดหลังแรก) คุณพ่อเมธี วรรณชัยวงศ์ เจ้าอาวาสวัดพระหฤทัย ศรีราชา เห็นว่าวัดที่เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น มีสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงวางแผนและเริ่มดำเนินการสร้างวัดหลังใหม่ มีพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1964
  
คุณพ่อประพล ธรรมพิชัย
ปี ค.ศ. 1963
คุณพ่อประพล ธรรมพิชัย เจ้าอาวาสวัดนักบุญยอแซฟ ดำเนินการสร้างวัดใหม่แทนวัดหลังเดิมที่ถูกไฟไหม้ในวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1963 ได้มีพิธีฉลองเสกวัดนักบุญยอแซฟ พนัสนิคมปัจจุบัน ภารดาคณะเซนต์คาเบรียล ได้ตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ ระยอง
ปี ค.ศ. 1964
คุณพ่อชิ่น ไชยเจริญ ได้เริ่มก่อสร้างวัดพระหฤทัย ขลุง (วัดปัจจุบัน) แทนวัดหลับที่ 2 ซึ่งมีอายุประมาณ 60 ปีแล้ว
ส่วนวัดนักบุญยอห์น อัครสาวก มะขาม คุณพ่อวิจิตร ไตรภพ ก็ได้สร้างวัดขึ้นบนเนื้อที่ที่ คุณพ่อญาณี ได้จัดซื้อไว้
 
ปี ค.ศ. 1965
วันที่ 18 ธันวาคม พระสันตะปาปา ปอล ที่ 6 ได้ประกาศสถาปนาให้มิสซังจันทบุรี เป็นสังฆมณฑลจันทบุรี พระคุณเจ้าสงวน ได้เชิญ คณะคามิลเลี่ยน มาเปิดสถานรักษาพยาบาลคนโรคเรื้อนที่โคกวัด ทั้งนี้ได้มอบที่ดินราว 100 ไร่ ให้แก่คณะด้วย
 
ปี ค.ศ. 1966
คุณพ่ออรุณ ธรรมธาดา เจ้าอาวาสวัดโคกวัด ได้รวบรวมคริสตังี่อพยพจากโคกวัด ไปอยู่ที่เขาฉกรรจ์ (จ.สระแก้ว) และถวายมิสซาที่บ้านของสัตบุรุษ เมื่อคุณพ่อย้ายจากโคกวัดไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดชลบุรี ก็ได้เริ่มก่อส้างวัดหลังปัจจุบัน ซึ่งเริ่มมีการเตรียมสร้างใหม่ ตั้งแต่สมัยคุณพ่อวินทร์ ทางด้านวัดแม่พระปฏิสนธินิรมล เตยใหญ่ ได้ดำเนินการสร้างวัดหลังปัจจุบัน โดยมีคุณพ่อบุญชู ระงับพิษ เจ้าอาวาสวัดหัวไผ่มาควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งในขณะนั้น คุณพ่อวิทยา สาทรกิจเป็นเจ้าอาวาส ทำการเสกเมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1966 คุณพ่อกิจ วรศิลป์ เจ้าอาวาสวัดตราด ได้ซื้อที่ดินเพิ่มและได้สร้างวัดตราดใหม่แทนวัดเก่า
   
คุณพ่อหลุยส์ เฮโม
ปี ค.ศ. 1967
คุณพ่ออรุณ ธรรมธาดา เจ้าอาวาสวัดพระนามเยซู ชลบุรี ได้รวบรวมคริสตังที่บางแสน ส่วนทางด้านคริสตังที่พัทยา ได้สร้างวัดนักบุญนิโคลัส เดอ ฟูล มีพิธีเสกวัดใหม่เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1967
ปี ค.ศ. 1968
ทางสังฆมณฑล ได้มอบหมายให้ คุณพ่อหลุยส์ (คณะ SAM) เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านทัพ และคุณพ่อได้ร่วมกับสัตบุรุษช่วยกันสร้างวัดน้อยและบ้านพักพระสงฆ์
ปี ค.ศ. 1969
คุณพ่อดำรง กู้ชาติ ได้ดำเนินการสร้างวัดเซนต์ปอล แปดริ้ว หลังจากที่มีโครงการสร้างวัดใหม่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1932 เพราะวัดเก่าทรุดโทรมมาก
 
ปี ค.ศ. 1970
คุณพ่อกิจ วรศิลป์ ได้สร้างวัดนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ท่าศาลา (หลังปัจจุบัน) แทนวัดเก่าที่คุณพ่อซีมอน ได้สร้างไว้เมื่อ ค.ศ. 1937 พระคุณเจ้าสงวนได้ขอลาจากตำแหน่งประมุขของสังฆมณฑลจันทบุรี เนื่องจากสุขภาพไม่สมบูรณ์ โดยมีโรคประจำตัวอยู่เสมอ จนไม่อาจปฏิบัติภารกิจได้เต็มที่ ระหว่างที่ยังไม่มีประมุข คุณพ่อสนิท วรศิลป์ เป็นผู้รักษาการแทน
.......................................................................................................

สมัยพระคุณเจ้า
ลอเรนซ์
เทียนชัย สมานจิต
(ค.ศ. 1971 – ปัจจุบัน)
          พระสันตะปาปา ปอล ที่ 6 ได้เลือกคุณพ่อลอเรนซ์ เทียนชัย สมานจิต ซึ่งเป็นเลขานุการของพระคุณเจ้าสงวน ให้เป็นพระสังฆราชปกครองสังฆมณฑลจันทบุรี เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1971 และได้รับอภิเษกโดยพระคุณเจ้าสงวน สุวรรณศรี ในวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1971 ณ วัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ พระคุณเจ้าได้มีคติประจำใจในวันอภิเษกเป็นพระสังฆราช “ขอให้ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน. (UT OMNES UNUM SINT)
          พระคุณเจ้า ได้พยายามใช้นโยบาย แห่งการประนีประนอม ควบคู่กับความรักเอาใจใส่ในการอภิบาลทั่วสังฆมณฑล มีการสร้างวัดเพิ่มขึ้นในที่ต่าง ๆ ตามที่มีคริสตังอพยพไปอยู่อาศัยตามพื้นที่ ในเขตสังฆมณฑลจันทบุรี
 
ปี ค.ศ. 1971
สังฆมณฑล ได้จัดให้มีคณะกรรมการรับผิดชอบเรื่องคำสอน และจัดให้มีการอบรมครูคำสอน หลักสูตรปลายสัปดาห์ติดต่อกัน ณ สำนักพระสังฆราช
 
ปี ค.ศ. 1973
คุณพ่ออังเดร โบลังด์ ได้เข้าไปดูแลคริสตังที่อพยพจากโคกประสาท โนนแก้ว โนนงิ้ว และโนนแฝก มาอยู่ที่เขาขาด อำเภอวัฒนานคร (จ.สระแก้ว)
 
ปี ค.ศ. 1974
เมื่อวันที่ 22 กันยายน สังฆมณฑลได้เปิดดำเนินกิจการ สถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า พัทยา โดยมอบหมายให้คุณพ่อเรย์มอนด์ เบรนแนน เป็นผู้อำนวยการ และซิสเตอร์คณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร เป็นผู้ดำเนินกิจการ ปัจจุบันซิสเตอร์คณะธิดากางเขนเป็นผู้ดูแล ทางด้านวัดอารักขเทวดา แหลมประดู่ จันทบุรี คุณพ่ออารี วรศิลป์ ได้สร้างวัดหลังปัจจุบันแทนวัดเก่าที่คุณพ่อแอสเตวัง สร้างไว้ ราวปี ค.ศ. 1900
 
ปี ค.ศ. 1975
โอกาสปีศักดิ์สิทธิ์ สังฆมณฑลได้มอบหมายให้หน่วยงานคำสอน จัดอบรมฟื้นฟูจิตใจตามวัดในสังฆมณฑล ในปีนี้ มีครอบครัวคริสตังย้ายมาจากภาคอีสานเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านสระไม้แดง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา และคุณพ่อโกโทร สงฆ์คณะพระมหาไถ่ ได้เข้าไปถวายบูชามิสซาเดือนละครั้งที่บ้านสัตบุรุษ สังฆมณฑลได้จัดตั้งศูนย์สังคมพัฒนา โดยมีคุณพ่อสีลม ไชยเผือก เป็นผู้รับผิดชอบ มีสำนักงานอยู่ที่วัดจันทบุรี
   
ปี ค.ศ. 1977
คุณพ่อวิโอลา วรศิลป์ เจ้าอาวาสวัดตราด ได้ปรับปรุงวัดที่คุณพ่อกิจ วรศิลป์ ได้สร้างไว้ให้โปร่งมากขึ้น โดยติดกระจกทั้งหมด ทางด้านนครนายก ทางสังฆมณฑลได้จัดซื้อที่ดินจำนวน 3 ไร่ พร้อมกับบ้าน สำหรับใช้เป็นวัดน้อยมีชื่อว่า “วัดพระมารดาแห่งพระศาสนจักร”
ปี ค.ศ. 1979
เนื่องจากวัดแม่พระลูกประคำ สัตหีบ (วัดเก่า) ซึ่งใช้บ้านหลังหนึ่ง ดัดแปลงเป็นวัดชั่วคราว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 มีสภาพไม่เหมาะสม และทรุดโทรมมาก คุณพ่อไพบูลย์ นัมคณิสรณ์ จึงดำเนินการสร้างวัดใหม่ ในที่ดินที่พระคุณเจ้าแจง เกิดสว่าง ได้ซื้อไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1947
ปี ค.ศ. 1981
คุณพ่อวัชรินทร์ สมานจิต เจ้าอาวาสวัดแขวงสระแก้ว ได้ก่อตั้งกลุ่มคริสตชนที่ทุ่งวิบาก อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว
 
ปี ค.ศ. 1982
สังฆมณฑลได้จัดสร้างศูนย์สังฆมณฑลที่ศรีราชา โดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1982 เพื่อเป็นที่ประชุมสัมมนา และศูนย์ประสานงานต่าง ๆ ของสังฆมณฑล คุณพ่อชูชาติ ศรีวิชัยวัฒน์ อธิการบ้านเณรพระมหาไถ่ได้ดำเนินการรวบรวม “กองทุกคาทอลิก” เป็นทุนในการจัดซื้อที่ดินและสร้างวัดนักบุญอันนา สระไม้แดง และมีพิธีเสกวัดใหม่ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน
 
ปี ค.ศ. 1984
คุณพ่อเศียร โชติพงษ์ เจ้าอาวาสวัดแม่พระนิจจานุเคราะห์ ได้ดำเนินการก่สร้างวัดใหม่ในที่ของวัดเอง ซึ่งแต่ก่อนวัดอยู่ในโรงเรียนอัสสัมชัญ ระยอง
 
ปี ค.ศ. 1987
กลุ่มคริสตังจากบ้านโนนมาลี และบ้านหนองคู จ.ยโสธร ได้อพยพเข้ามอยู่ที่บ้านนายาว ทางสังฆมณฑลจึงมอบหมายให้คุณพ่อทวี อานามวัฒน์ เจ้าอาวาสแขวงวัดสระแก้ว เป็นผู้ดูแล
 
ปี ค.ศ. 1988
โอกาสปีแม่พระ สังฆมณฑลจัดพิธีแห่แม่พระไปตามวัด
 
ปี ค.ศ. 1989
คุณพ่อทวี อานามวัฒน์ ได้ดำเนินการก่อสร้างวัดพระจิตเจ้าบ้านทัพ แทนวัดชั่วคราวที่คุณพ่อหลุยส์สร้างไว้ และทางด้านปัญหาสังคมที่พัทยา คณะภคินีศรีชุมพาบาลได้เปิดศูนย์ธารชีวิต เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของสตรี ผู้มีอาชีพบริการ
 
ปี ค.ศ. 1990
อารามคาแมล์ ดำเนินการก่อสร้างอารามในสถานที่ใหม่ มีพิธีวางศิลาฤกษ์ วันที่ 28 เมษายน ทางด้านวัดแม่พระประจักษ์ที่ลูร์ด บางคล้า คุณพ่อสันติ สุขสวัสดิ์ เจ้าอาวาส ได้เริ่มก่อสร้างวัดใหม่แทนวัดเดิมที่สร้างไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1959
 
ปี ค.ศ. 1991
คณะแม่พระแห่งพระตรีเอกภาพ ได้เปิดศูนย์บำบัดยาเสพติด (หญิง) ที่บางคล้า
 
ปี ค.ศ. 1994
มิสซังจันทบุรี ก่อตั้งครบ 50 ปี เพื่อขอบพระคุณพระเป็นเจ้า สังฆมณฑลจัดให้มีพิธีเคารพศีลมหาสนิท และแห่ไปทุกวัด เริ่มจากวัดหัวไผ่ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม และจบที่วัดศรีราชา วันที่ 22 – 23 ตุลาคม มีพิธีฉลอง 50 ปีมิสซังจันทบุรี ณ บ้านเณรพระหฤทัย ศรีราชา